บ้าน นอกจากจะเป็นที่พักอาศัย เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในครอบครัวแล้วบ้านยังนับเป็นหนึ่งในการลงทุนก้อนใหญ่ในชีวิต เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดแต่หลาย ๆ คนมักจะไปโพกัสกับราคาของบ้านจนลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งไป นั่นคือประกันบ้าน 

ราคาประกันภัยบ้านแพงหรือไม่

การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย

ไม่ว่าจะเป็น บ้านพัก รีสอร์ท ที่อยู่อาศัยหรือเปิดให้เช่า ทางเจ้าของสามารถทำประกันภัยให้กับอาคารของตัวเองได้ทั้งหมด รวมถึงพวกห้องชุด คอนโดมิเนียมด้วย โดยที่มีราคากลางจาก (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) เป็นผู้ตั้งราคากลางประเมิน โดยใช้สูตรคำนวณดังนี้
[(จำนวนเงินเอาประกันภัย/มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ณ เวลาเกิดความเสียหาย) x มูลค่าความเสียหาย]

 
     โดยราคา ณ ปัจจุบัน จะมีการคำนวณค่าเสื่อมราคาเข้าไปด้วย ค่าเสื่อมราคาก็คือมูลค่าของตัวทรัพย์สินที่ลดลงตามอายุการใช้งาน ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาอาคารทั้งส่วนโครงสร้าง การตกแต่งทางสถาปัตยกรรม และงานระบบประกอบอาคาร
 
• ค่าเสื่อมราคาของอาคารอายุต่ำกว่า 60 ปี ราคาลดลงปีละ 1.16 – 1.6 % ต่อปี
 • ค่าเสื่อมราคาของอาคารอายุมากกว่า 60 ปี ราคาลดลงปีละ 20 – 40 % ต่อปี
(เครดิตข้อมูลจาก TQM อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์) 

ประกันบ้านก็เหมือนกับประกันประเภทอื่น ๆ ที่เบี้ยประกันจะอยู่ที่การคุ้มครองกับมูลค่าทรัพย์สิน ยิ่งมีมูลค่าสูง เบี้ยประกันก็ยิ่งแพงแต่ก็แลกมากับวงเงินคุ้มครองสูงสุดที่สูงมากเช่นกัน นอกจากนี้หากว่าเราเพิ่มความคุ้มครองไปยังด้านอื่น ๆ เช่น อัญมณีหรือบุคคลที่ 3 เบี้ยประกันก็จะยิ่งแพงไปอีก

โดยปัจจุบัน ประกันที่เกี่ยวกับบ้าน มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้

ประกันอัคคีภัย

เป็นการคุ้มครองความเสียหายกับบ้านอันเนื่องมาจากเหตุตามที่ระบุในกรมธรรม์ เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า แก๊สรั่ว ประกันอัคคีภัยนี้เป็นประกันที่มีอายุสั้น นั่นคือ ต้องมีการซื้อประกันรายปี หรือทุก ๆ 2-3 ปี ในส่วนของเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะขึ้นอยู่กับระยะความคุ้มครอง โดยระยะเวลาคุ้มครองที่นานกว่าจะมีเบี้ยประกันที่ต่ำกว่า หากเกิดอัคคีภัยขึ้นบริษัทประกันจะจ่ายความคุ้มครองให้กับเจ้าของบ้าน หรือธนาคารในกรณีที่บ้านติดจำนองกับธนาคาร ซึ่งปัจจุบันกฎหมายบังคับให้ทำประกันอัคคีภัยสำหรับบ้านใหม่ เช่น บ้านเดี่ยวจะมีเบี้ยประกันไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าบ้าน

ประกันภัยพิบัติ

ให้ความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ตามรายละเอียดในกรมธรรม์ เช่น การให้ความคุ้มครองกรณีแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาดมากกว่า 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ หรือพายุที่มีความเร็วลมตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในส่วนของกรณีน้ำท่วมนั้น ประกันภัยพิบัติจะไม่ครอบคลุมกรณีที่บ้านอยู่ในพื้นที่ที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำ หรือทางน้ำผ่าน ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เราต้องอ่านกรมธรรม์ให้เข้าใจก่อนตกลงทำสัญญาเสมอ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำประกันภัยพิบัติครับ

ประกันสินเชื่อบ้าน

หรือประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ (TMRA) ใจความสำคัญของประกันประเภทนี้ คือ การให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้ที่ขอสินเชื่อเสียชีวิต หรือไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านได้อีกต่อไป ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้สินในส่วนที่เหลือให้กับธนาคารผู้ออกสินเชื่อ การทำประกันสินเชื่อบ้านนี้ จึงเป็นการสร้างหลักประกันว่า หนี้สินในการผ่อนบ้านจะไม่ตกเป็นภาระของคนที่เหลือในครอบครัว ดังนั้น ประกันประเภทนี้จึงมีประโยชน์มากสำหรับหัวหน้าครอบครัวที่มีรายได้น้อย และต้องรับภาระในการขอสินเชื่อเพียงคนเดียว สำหรับครอบครัวที่มีความสามารถในการชำระหนี้ทั้งหมดได้อยู่แล้ว ประกันตัวนี้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นครับ เนื่องจากเบี้ยประกันมีมูลค่าค่อนข้างสูง โดยต้องชำระเป็นเงินก้อนเพียงครั้งเดียว
 
หลาย ๆ ครั้งที่ประกันตัวนี้จะถูกนำเสนอเมื่อมีการขอสินเชื่อในการกู้ซื้อบ้าน เพราะนอกจากจะเป็นการคุ้มครองครอบครัวของผู้ขอสินเชื่อแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองธนาคารผู้ออกสินเชื่ออีกด้วย ดังนั้น ธนาคารผู้ออกสินเชื่อจึงมักจะมีข้อเสนอ เช่น ลดดอกเบี้ยการผ่อนให้หากผู้ขอสินเชื่อตัดสินใจทำประกันตัวนี้ อย่างไรก็ตาม ประกันประเภทนี้ไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎหมายนะครับ ดังนั้น ธนาคารผู้ให้สินเชื่อไม่มีสิทธิ์บังคับให้ผู้ขอสินเชื่อซื้อ ไม่ว่าจะเป็นประกันที่ออกโดยธนาคารเอง รวมทั้งไม่มีสิทธิ์บังคับหากผู้ขอสินเชื่อต้องการซื้อประกันกับบริษัทอื่นที่เสนอเบี้ยประกันที่ดีกว่า
 
การดูแลรักษาทรัพย์เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการหาทรัพย์ การสร้างความคุ้มครองผ่านการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราจำกัดความเสียหายจากสิ่งที่ไม่คาดคิด รวมถึงช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับคนในครอบครัว ถึงแม้เราจะไม่สามารถควบคุมเรื่องร้าย ๆ ได้ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถจำกัดความเสียหายได้ครับ